เกี่ยวกับมูลนิธิน้อมเกล้าพัฒนา
ปี พ.ศ. 2556
ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสาธารณกุศลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ในนามมูลนิธิน้อมเกล้าพัฒนา มีที่ตั้งอยู่ในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมุ่งเน้นงานพัฒนาด้านการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร การสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนและการบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลัก
ปี พ.ศ.2557
ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี ในขณะเดียวกันก็ยังประสานงานความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆโดยสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาให้หน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น กองทัพบก กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานการท่องเที่ยวกองทัพบก เป็นต้น
ปี พ.ศ.2558
ได้ขยายงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล ดำเนินการโครงการด้านการปรับปรุงซ่อมแซมระบบโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารรวมถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่ให้แก่โรงเรียนต่างๆที่ชำรุด โดยมีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งระบบโทรทัศน์ดาวเทียมโดยใช้พาหนะรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อในการเดินทางเข้าพื้นที่ซึ่งมีเป้าหมาย คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา " แม่ฟ้าหลวง " ( ศศช. ) ซึ่งจะอยู่ตามพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลทั้งสิ้น
ปี พ.ศ.2559
ยังคงดำเนินโครงการด้านปรับปรุงซ่อมแซมระบบโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารห่างไกลและยังสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาให้แก่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" ( ศศช. ) อย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะทำงานอาสามัครเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในช่วงเดือนตุลาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตและด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ มูลนิธิน้อมเกล้าพัฒนาจึงได้ตั้งเต็นท์ให้บริการประชาชนภายในท้องสนามหลวง เป็นเวลา 100 วัน
ปี พ.ศ.2560
ได้ขยายงานของโครงการด้านการพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 โดยเพิ่มการติดตั้งและซ่อมแซมระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลส์) ให้กับโรงเรียนในโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะทำงานของมูลนิธิได้พบปัญหาต่างๆเช่น ระบบเดิมชำรุดไม่มีช่างซ่อมหรือโรงเรียนไม่เคยมีไฟฟ้าใช้มาก่อนเลย จึงได้ขยายขอบเขตงานของโครงการเพิ่มเติมและมูลนิธิยังให้บริการประชาชนภายในบริเวณท้องสนามหลวง ภายในเต็นท์โซนใต้ 37 บริเวณงานพระราชพิธีพระบรมศพฯอย่างต่อเนื่อง จนครบ 100 วัน
เดือนมกราคม มูลนิธิได้ออกช่วยเหลืออพยพประชาชนจากเหตุการณ์อุทกภัยหมู่บ้านคลองลอย ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอพยพผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลบางสะพานเนื่องจากน้ำท่วมสูง
เดือนกรกฎาคม มูลนิธิน้อมเกล้าพัฒนาได้รับการร้องขอจากองค์การบริหารส่วนตำบลศรีวิชัย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งขอสนับสนุนพาหนะเข้าพื้นที่พร้อมเรือค้นหาผู้ประสบภัยเพื่ออพยพประชาชน มูลนิธิน้อมเกล้าพัฒนาจึงได้จัดชุดเฉพาะกิจรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อจำนวน 6 คัน เรือท้องแบนจำนวน 2 ลำ พร้อมทั้งรถพยาบาลจำนวน 2 คันเดินทางสนับสนุนในพื้นที่เกิดเหตุ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมูลนิธิได้เข้าช่วยเหลือประชาชนอีก 2 ครั้งในจังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธรอีกด้วย
ปี พ.ศ.2561-ปัจจุบัน
มูลนิธิน้อมเกล้าพัฒนา ยังคงดำเนินการตามพันธกิจและยังคงยึดมั่นในการดำเนินงานต่อไปตามเจตจำนง และเป้าหมายสูงสุดขององค์กร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหลายอย่างไม่หยุดยั้ง โดยได้ขยายขอบเขตพื้นที่การดำเนินโครงการออกไปอีกหลายจังหวัด เพิ่มจำนวนพันธมิตรและผู้ให้การสนับสนุนของมูลนิธิมากขึ้น ยังคงมุ่งเน้นโครงการด้านการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร สร้างเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชนและงานด้านการบรรเทาสาธารณภัย ปัจจุบันมูลนิธิน้อมเกล้าพัฒนา มีพื้นที่ดำเนินงาน 6 โครงการใน 76 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทยและมีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 150 คน มีองค์กรพันธมิตรเครือข่ายจำนวน 8 องค์กร โดยมีพาหนะรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ Offroad เพื่อเข้าพื้นที่ต่างๆรวมทั้งสิ้นจำนวน 30 คัน เรือท้องแบนจำนวน 2 ลำ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2561 )
วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรชั้นนำด้านการให้บริการเพื่อสังคม โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์และมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ
พันธกิจ
1. ผลิตกิจกรรมด้วยความรับผิดชอบและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
2. เสริมสร้างพันธมิตรเครือข่ายความร่วมมือ
3. พัฒนาทีมงานให้มีประสิทธิภาพ
4. พัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง
5. เป็นศูนย์กลางของนักประดิษฐ์นักคิดและนักพัฒนา
วัตถุประสงค์
1. ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยทุกกรณี รวมถึงการฟื้นฟูให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติดังเดิม และเป็นองค์กรในการรวบรวมอาสาสมัครผู้มีจิตอาสาในยามที่ประเทศประสบภัยพิบัติ
2. ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษา อุปกรณ์การศึกษา ทุนการศึกษา ทุนสร้างและปรับปรุงอาคารสถานที่แก่สถานศึกษา การพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆของชาติ การฝึกอบรม การฝึกอาชีพให้แก่ประชาชน
3. สร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน สนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาด้านการสาธารณสุขสาขาต่างๆ
4. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีของคนในชาติ การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตร อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การศาสนา ศิลปวัฒธรรมและพัฒนาพลังงานด้านต่างๆของชาติ
5. ดำเนินการด้านอื่นๆเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นส่วนรวม รวมถึงให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนประการอื่น
6. ร่วมมือกับองค์กรของรัฐ องค์กรทางสังคม ชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรการกุศลอื่นๆ ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์
7. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
โครงการในปัจจุบัน
1. โครงการน้ำใจให้น้อง เป็นโครงการที่สนับสนุนสมุดจดบันทึกการบ้านฉบับการ์ตูน ชุด เศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่นักเรียนผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร
2. โครงการพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร มีรายละเอียดภารกิจดังนี้
2.1 ติดตั้งและซ่อมแซมระบบโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
2.2 ติดตั้งและซ่อมแซมระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลส์)
2.3 ติดตั้งปรับปรุงระบบน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภค
2.4 ซ่อมสร้างอาคารเรียน ห้องพยาบาล โรงอาหาร ห้องน้ำ บ้านพักครู อาคารเด็กบ้านไกล
2.5 ซ่อมสร้างสถานีอนามัยใกล้เคียง
2.6 มอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การศึกษา เวชภัณฑ์ยารักษาโรค อุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็น
3. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยน้อมเกล้า มีภารกิจคือการบรรเทาทุกข์รวมทั้งการค้นหาและกู้ภัยตามหลักสากล (INSARAG:: International Search and Rescue Advisory Group)โดยมีบุคลากรที่มีความพร้อมและมีความชำนาญด้านการกู้ภัย ได้รับการอบรมจากหน่วยงานรับผิดชอบด้านสาธารณภัย ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมของเหล่าจิตอาสาที่มีใจมุ่งมั่นเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ
4. โครงการผ้าฝ่าหีบศพสัญจร เป็นกิจกรรมบริจาคหีบศพตู้เย็น หีบศพขาว หีบศพเด็กและผ้าขาวห่อศพ ถวายให้กับวัดต่างๆเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ สำหรับเก็บร่างครั้งสุดท้ายในขณะบำเพ็ญกุศลยามเมื่อเสียชีวิต โดยโครงการดังกล่าวจัดขึ้นปีละครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี และจัดเปลี่ยนหมุนเวียนจังหวัดไปเรื่อยตามวัดที่ขาดแคลน ภายในงานได้จัดให้มีพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอุทิศแด่ดวงวิญญาณเร่ร่อนไร้ญาติขาดมิตร ดวงวิญญาณทารกที่ถูกทำแท้ง เจ้ากรรมนายเวรและสรรพสัตว์ทั้งหลายเพื่อให้มาร่วมอนุโมทนา พิธีถวายสังฆทาน สวดสะเดาะเคราะห์ ต่ออายุนอนโลงศพ บังสุกุลเป็น-บังสุกุลตาย เพื่อเสริมดวงชะตา อีกด้วย
5. โครงการจัดสร้างวัดใหม่แก้วกัลยา ( คณะธรรมยุตนิกาย) เป็นโครงการจัดสร้างวัดจากที่ดินเปล่า 7 ไร่ 3 งานในต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ. เพชรบูรณ์ ซึ่งมีภูมิประเทศเหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยมีความเงียบสงบ และห่างไกลจากชุมชน โดยมีพระปริยัติสารเมธี ( สุริยา สุเมโธ ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราชผาติการาม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษาการจัดสร้าง
6. ศูนย์พิทักษ์ภัยสังคม (ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้ถูกเอาเปรียบ) จัดตั้งขึ้นภายใต้ มูลนิธิน้อมเกล้าพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาสหรือมีรายได้น้อยซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคมได้มีโอกาสปกป้องสิทธิของตนและให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมายโดยเสมอภาคและถ้วนหน้ากัน
7. โครงการสนับสนุนกระเป๋าพยาบาลแบบมาตรฐาน ให้แก่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน